รายงานฉบับที่9 - TRFttmp.trf.or.th/ttmp_apr-jun44.doc · Web...

443
รรรรรรรรรรรรร 10 รรรรรรรรรรรร รรรรรรรรรร รรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรร รรรรรร รรรรรรรรรร: รรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรร Mass Communication: Seeking for A Genuine Public Media รรรรรรรรร รรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรร (TTMP) รรรรรรรรรรร รรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรรร (รรร.) 15 รรรรรรร 2544 1

Transcript of รายงานฉบับที่9 - TRFttmp.trf.or.th/ttmp_apr-jun44.doc · Web...

รายงานฉบับที่9

1

1

รายงานฉบับที่ 10

การวิเคราะห์ สังเคราะห์

สถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทย

เรื่อง

การสื่อสาร: ความพยายามแสวงหาสื่อเพื่อสาธารณะ

Mass Communication: Seeking for A Genuine Public Media

จัดทำโดย

โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย (TTMP)

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

15 กรกฎาคม 2544

คำชี้แจง

เอกสารฉบับนี้ เป็นรายงานวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลสรุปเหตุการณ์และแนวโน้มด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และในต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย จัดทำทุก 3 เดือน เผยแพร่ทั้งในรูปเอกสาร และทางโฮมเพจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย (Thailand Trends Monitoring Project -TTMP) ที่ได้รับทุนอุดหนุนจาก สกว. ตามหนังสือสัญญาให้ทุน เลขที่ 01/0004/2543

รายงานฉบับนี้ เป็นรายงานฉบับที่ 10 ประจำไตรมาสที่ 2 (เมษายน - มิถุนายน 2544) ประกอบด้วยรายงาน 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นรายงานการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ในหัวข้อเรื่อง "การสื่อสาร: ความพยายามแสวงหาสื่อเพื่อสาธารณะ" ส่วนที่ 2 เป็นรายงานการประมวลสรุปสถานการณ์และแนวโน้มด้านต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน เมษายน ถึงเดือนมิถุนายน 2544 โดยดำเนินการรวบรวมข้อมูลตามกรอบการประมวลข้อมูลที่กำหนดไว้ 7 หัวข้อ รายงานมีความหนาทั้งสิ้น 200 หน้ากระดาษ เอ-4

สำหรับผู้ที่สนใจดูรายงานทุกฉบับของโครงการฯ ทางอินเทอร์เน็ต โปรดดูได้ทางเว็บไซต์ของ สกว. ที่ชื่อ www.trf.or.th/ttmp/index.htm

คณะผู้ดำเนินงานหวังว่า ท่านจะได้รับประโยชน์จากรายงานฉบับนี้ตามควร

-------------------------------------------------

นายอนุช อาภาภิรม

หัวหน้าโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย (TTMP)

สารบัญ

1การสื่อสาร: ความพยายามแสวงหาสื่อเพื่อสาธารณะ

คำชี้แจง2

สารบัญ3

บทคัดย่อ6

ABSTRACT8

รายงานย่อสำหรับผู้บริหาร10

รายงานส่วนที่ 115

การสื่อสาร: ความพยายามแสวงหาสื่อเพื่อสาธารณะ15

1. บทกล่าวนำ: ชีวิตและอุตสาหกรรมวัฒนธรรม16

2. สถานการณ์และแนวโน้มการสื่อสารของโลก19

2.1 ปริมาณและความไม่เท่าเทียมกันทางข่าวสาร19

2.2 การสื่อสารกับอำนาจรัฐ21

2.3 การสื่อสารกับอำนาจบรรษัทข้ามชาติ27

2.4 สื่อกระจายเสียงเพื่อสาธารณะ34

2.5 สื่อทางเลือกและขบวนการทางสังคม (Alternative Media & Social Movement)40

2.6 แนวโน้มและประเด็นปัญหาบางประการเกี่ยวกับการสื่อสาร42

3. สถานการณ์และแนวโน้มการสื่อสารในประเทศไทย44

3.1 ภูมิหลัง44

3.2 สถานการณ์และแนวโน้มการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย (พ.ศ.2540-44)59

3.3 บทสรุปและข้อเสนอแนะ67

ภาคผนวก 171

สังเขปความเป็นมาของการสื่อสารโลก71

ภาคผนวก 276

สังเขปความเป็นมาของการสื่อสารในประเทศไทย76

ภาคผนวก 383

ตารางที่ 183

บรรณานุกรม84

ภาษาไทย84

ภาษาอังกฤษ84

รายงานส่วนที่ 286

ประมวลสถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทย86

ประมวลสถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทย87

ความเคลื่อนไหวด้านการผลิตและการค้า87

นำเรื่อง87

1. สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคต่างๆ88

2. สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ99

3. ความเคลื่อนไหวภาครัฐ103

4. ความเคลื่อนไหวภาครัฐวิสาหกิจ108

5. ความเคลื่อนไหวภาคเอกชน109

6. ความเคลื่อนไหวภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง112

7. ประมวลทรรศนะทางด้านเศรษฐกิจ113

ความเคลื่อนไหวด้านประชากร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน116

นำเรื่อง116

1. ความเคลื่อนไหวด้านประชากร117

2. ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม127

3. ความเคลื่อนไหวด้านพลังงาน131

ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองการปกครอง136

นำเรื่อง136

1. ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองการปกครองแบบอนุรักษ์138

2. ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองการปกครองแบบปฏิรูป140

3. การเมืองภาคประชาชนและองค์กรประชาชน146

4. ความเคลื่อนไหวด้านการต่างประเทศ147

5. ความเคลื่อนไหวการเมืองการปกครองในโลกและภูมิภาคต่างๆ151

ความเคลื่อนไหวด้านการศึกษา158

นำเรื่อง158

1. ความเคลื่อนไหวด้านการปฏิรูปการศึกษา159

2. ความเคลื่อนไหวด้านบริหารการศึกษา163

3. ความเคลื่อนไหวด้านคุณภาพการศึกษา165

4. ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก166

5. ความเคลื่อนไหวด้านการศึกษาในต่างประเทศ166

ความเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี167

นำเรื่อง167

1. ความเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย168

2. ความเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศ173

ความเคลื่อนไหวด้านอาหารและสาธารณสุข176

นำเรื่อง176

1.ความเคลื่อนไหวด้านอาหาร177

2.ความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุข181

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับท่วงทำนองการดำเนินชีวิต191

นำเรื่อง191

1. ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการบริโภค192

2. ศาสนา ประเพณี ความเชื่อและค่านิยมทางสังคม196

3. การทุจริตประพฤติมิชอบ197

4. ปัญหายาเสพติด ค้าของเถื่อน และบ่อนการพนัน198

ภาคผนวก200

รายชื่อคณะผู้ดำเนินงานโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย200

บทคัดย่อ

โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย (TTMP) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำรายงานไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2544) ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นบทวิเคราะห์และสังเคราะห์ เรื่อง “การสื่อสาร: ความพยายามแสวงหาสื่อเพื่อสาธารณะ” ส่วนที่สอง เป็นภาคการประมวลเหตุการณ์และแนวโน้มประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

ผลการศึกษาในส่วนแรก สรุปได้ดังต่อไปนี้

1. การผลิตข่าวสารในปัจจุบันมีปริมาณมหาศาลสำหรับทุกคน ข่าวสารข้อมูลส่วนใหญ่บันทึกลงบนแม่เหล็ก และมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 1 เท่าตัวทุกปี ขณะที่ข่าวสารซึ่งบันทึกบนกระดาษมีปริมาณไม่ถึงร้อยละ 0.003 ของปริมาณข่าวสารทั้งหมด แต่พบว่าเป็นวิธีแพร่กระจายข่าวสารที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่ง การพัฒนาระบบสื่อสารของประเทศจึงไม่ควรมองข้ามสื่อสิ่งพิมพ์

2. ปรากฏภาวะช่องว่างและความไม่เสมอภาคทางข่าวสารดำรงอยู่ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ช่องว่างเหล่านี้ได้สะท้อนช่องว่างทางเศรษฐกิจ-สังคม ลักษณะทางเชื้อชาติ และเพศ ผู้มีฐานะดีจะสามารถเข้าถึงข่าวสารได้มากกว่า และข่าวสารจากประเทศพัฒนาแล้วจะไหลไปสู่ประเทศกำลังพัฒนามากกว่า

3. การลดช่องว่างข้างต้นกระทำได้โดย 1) เพิ่มจำนวนคู่สายและการเข้าถึงคู่สายโทรศัพท์ให้กว้างขวางทั่วถึงขึ้น โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกลและผู้ด้อยโอกาส 2) การยกคุณภาพข่าวสารให้มีความแม่นตรง เพิ่มความเข้าใจในสถานการณ์แวดล้อมและปลุกเร้าใจให้ใฝ่ดี การยกคุณภาพข่าวสารนี้สามารถกระทำได้ง่ายกว่าในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อกระจายเสียง

4. การสื่อสารมวลชนมีแนวโน้มเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น จนกระทั่งข่าวสารไม่ได้เป็นสินค้าเหมือนเดิม หากเป็นผู้รับสารที่กลายเป็นสินค้าซึ่งผู้ประกอบกิจการนำไปเสนอขายแก่บริษัทที่จะลงโฆษณา ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้ความสนใจในเนื้อหาของข่าวสารลดลง การเจาะลึกมีไม่มากเหมือนเดิม มุ่งกระตุ้นความตื่นเต้น และถือระดับความสนใจเฉพาะหน้าของผู้รับสารเป็นสำคัญ ปรากฏการณ์นี้ยังกีดกันผู้ที่จะเข้ามาประกอบการใหม่ทางด้านการสื่อสารมวลชนและส่งเสริมการผูกขาดอีกด้วย

5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีข่าวสาร และการสื่อสารเป็นไปในอัตราสูงยิ่ง เกิดการรุ่งเรืองขึ้นของสื่ออินเทอร์เน็ต เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจใหม่” ความก้าวหน้านี้กล่าวโดยทั่วไปเอื้อประโยชน์ต่อบรรษัทข้ามชาติด้านการสื่อสารเป็นสำคัญ ซึ่งในระยะสิบกว่าปีมานี้มีการควบรวมและซื้อกิจการที่ต้องใช้เงินทุนสูงยิ่ง และทำให้ข่าวสารของโลกและในประเทศพัฒนาแล้วถูกผูกขาดมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะเดียวกันขบวนประชาสังคมก็สามารถใช้สื่ออินเทอร์เน็ตในการเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิผล

6. จากการสำรวจตลาดวัฒนธรรม พบว่าสินค้าทางวัฒนธรรมมีแนวโน้มไปสู่ความบันเทิงมากขึ้น สินค้าจำพวกเพลง เกม และการกีฬามีมูลค่าในการสั่งเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้น ความสนใจเรื่องเพศในสื่ออินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าปริมาณข่าวสารที่เพิ่มขึ้นและการสามารถเข้าถึงข่าวสารได้ง่าย ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มภูมิปัญญาและยกระดับจิตใจของผู้รับสารเสมอไป

7. มีความพยายามจะสร้างสื่อกระจายเสียงสาธารณะ ที่พ้นจากกอำนาจครอบงำจากระบบรัฐและระบบตลาดขึ้นในอังกฤษ ซึ่งได้เป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอื่น แต่ต่อมา เมื่อลัทธิเสรีนิยมใหม่ขึ้นกระแสสูง ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่นเดียวกับในสหรัฐที่มีการแก้กฎระเบียบหลายครั้ง เปิดโอกาสให้บรรษัททำธุรกิจการสื่อสารได้เสรีมากขึ้น และพื้นที่สาธารณะสำหรับการสื่อสารก็ได้มีบริษัทแสวงหากำไรมาร่วมใช้มากขึ้น

8. สถาบันหนังสือพิมพ์ของไทย มีการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยมายาวนาน มีเสรีภาพสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ในระยะใกล้นี้ได้มีการปรับตัวเพื่อการยกมาตรฐานวิชาชีพ เสรีภาพในการแสดงออก ความมั่นคงทางอาชีพ และการควบคุมกันเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรุกคืบเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติด้านการสื่อสาร และความเรียกร้องของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วและต้องการแบบคิดใหม่ สถาบันหนังสือพิมพ์จึงจำต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถแสดงบทบาทอันเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนได้เหมือนเดิม

9. สื่อกระจายเสียงของไทยอยู่ในระบบรัฐแบบทวิลักษณะ นั่นคือ รัฐเป็นเจ้าของแต่ให้บริษัทเอกชนเช่าสถานีหรือเวลาออกอากาศ สื่อกระจายเสียงจึงมีแนวโน้มที่จะสร้างความชอบธรรมแก่ระบอบปกครองและทำกำไรแก่ธุรกิจเอกชน จากกฎหมายการสื่อสารใหม่ ที่เปิดให้บริษัทเอกชนมีเสรีในการทำธุรกิจวิทยุและวิทยุโทรทัศน์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น แนวโน้มคงไม่เปลี่ยนจากทวิลักษณะข้างต้น แต่อาจปรับเป็นให้น้ำหนักกับการทำกำไรมากขึ้น

10. การกำหนดให้สื่อกระจายเสียงต้องมีพื้นที่สาธารณะร้อยละ 20 เป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่ประสบการณ์จากประเทศพัฒนาแล้วพบว่า การกำหนดพื้นที่สาธารณะจากข้างบนให้ผลจำกัด สื่อสาธารณะที่มั่นคงนั้น จะเกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวของประชาสังคมหรือขบวนการสังคมใหม่

ผลงานส่วนที่สอง สถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทย

สถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทยในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 2544 มีความไม่แน่นอนสูง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่แน่ใจว่าจะมีการนำนโยบายขณะหาเสียงไปปฏิบัติเพียงใด อีกส่วนหนึ่งมาจากคดีความการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี และยังมาจากความไม่ไว้วางใจของกลุ่มทุนนิยมโลกต่อแนวทางนโยบายดังกล่าว โดยเห็นว่ามีลักษณะเป็นประชานิยมและชาตินิยมอันอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการโลกาภิวัตน์ได้ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดีขึ้นทั้งในประเทศและในโลกเพิ่มความไม่แน่นอนนี้ขึ้นอีก การเพียรพยายามปรับปรุงตัวเองด้วยความอดทนและอดกลั้น จะช่วยให้ต่อสู้และผ่านความไม่แน่นอนนี้ไปได้

ABSTRACT

Communication: A Quest for Public Media

This is the 10th Volume of the 2nd quarterly report (April-June 2001) of Thailand Trend Monitoring Project (TTMP), supported by TRF. The report consists of 2 parts: Part one, an analysis of general situations and trends entitled “Communication: A Quest for Public Media,” and Part Two, a presentation of selected news and movements gathered and synthesized from mass media including books and electronic media in the month of April-June 2001.

Significant findings of Part One can be summarized as follows:

1. At present, the amount of news and information generated is enormous and doubles every year. Most of this information is stored magnetically, while printed information accounts for less than 0.003% of all information. However, print media is found to be a highly effective means of disseminating information and should not be overlooked when developing the country's information system.

2. There is an information gap as well as an inequality in the weight of information, both domestically and internationally, which reflects the gap in socioeconomic, race, and gender. The affluent is able to acquire more information. There is a greater flow of information from developed countries to developing countries.

3. Narrowing the gap can be accomplished by: 1) increasing the number of telephone lines as well as broadening access to telephone lines, especially in rural areas; and 2) raising the quality of information so that it is more accurate, increases understanding of current affairs, and encourages righteousness. The quality of information is more easily accomplished through print and mass media than the Internet.

4. Mass communication is increasingly commercialized. Audiences has become a commodities that entrepreneurs sell to companies wishing to advertise, resulting in reduced attentiveness to the content of the information and less in-depth analysis. Information is instead aimed at stimulating excitement and focused on the immediate interest. It discriminates new entrepreneur in mass communication, instead it encourages monopoly situation.

5. Information technology and communication has developed rapidly. The prosperity of the Internet is an important element in the creation of the "New Economy." Generally, this development benefited multinational corporations in terms of communication. Consequently, capital-intensive mergers and acquisitions in the past decade have resulted in previously unseen monopolization of much information in developed countries and other parts of the world by MNC 's. At the same time however, the civil society movement also benefited from making use of the Internet.

6. A survey of the cultural market revealed that cultural products are increasingly geared towards entertainment. The value of imports and exports in music, games, and sports has grown. Interest in sex on the Internet is ranked number one, pointed out that an increase of quantity and easy to access characteristics of information doesn't always mean it will increase knowledge and elevated mind level of receivers.

7. There is an attempt to develop public broadcasting that does not depend on government system and market system in England, which is a model for other countries. Later on when the trend of neoliberalism was popular, the old system was not successful. In the United States, there were several revised of regulation that creates an opportunity for companies to do business in communication sector more freely. These companies have acquired and co-used public sphere for communication more than in the past.

8. Thai Journalists association (TJA) has long fought for democracy and has more freedom than neighbor countries. Recently, there is an attempt to improve job standard, freedom to express, career stability and control of each other. An emerge of multinational companies in communication and new thinking process arises from rapid change in the environment drives TJA to quickly adopt itself in order to be accepted by the public again.

9. Thai broadcasting media is depended on dual state system or state-own but permit private companies to lease stations or airtime. Broadcasting has a tendency to create mandate to governance system and make profit for private companies. New communication regulation gives more opportunity to private companies to freely do business in radio and radio-television more. Thus, the direction of communication will not change from the dual state system above, however, it may adapt and put more emphasis on profit making.

10. Stipulations that broadcast media should have at least 20% public space are the new landscape of Thai broadcasting regulation. However, from the experience of developed countries, the determination of public sphere has limited effect since a stabilized public broadcasting will occur together with the movement of civil society.

Significant findings of Part Two can be summarized as follows:

Situations and trends in Thailand between April and June 2001 is volatile due partly from the uncertainty as to what degree the government can implement policies announced during the election campaign. Another part of uncertainty was due to legal matter of asset declaration of the Prime Minister. Moreover, international capitalists groups did not trust the direction of the above policies, which seem populist and nationalistic, and may be impediment to globalization. Economic situations has not improved both domestically and internationally led to higher uncertainty. Persistent efforts at self-improvement through patience and endure will certainly help the struggle to survive this uncertainty.

รายงานย่อสำหรับผู้บริหาร

การสื่อสาร: ความพยายามแสวงหาสื่อเพื่อสาธารณะ

-----------------------

1. กล่าวนำ: ชีวิตและอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

การสื่อสารไม่จำกัดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ควรจะมองกว้างขึ้นว่าการสื่อสารเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการของการสื่อสารทั้งในธรรมชาติและในสังคมมนุษย์มีแนวโน้มจากระบบที่เรียบง่ายไปสู่ระบบที่ซับซ้อนขึ้น แต่ระบบที่ซับซ้อนนี้ก็ไม่ได้แทนที่ระบบที่เรียบง่าย แบคทีเรียดำรงอยู่ควบคู่กับมนุษย์ และยังเป็นรูปแบบชีวิตสำคัญของโลก เช่นเดียวกับการสื่อสารทางวิทยุ วิทยุโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้แทนที่การสื่อสารแบบปากต่อปากหรือสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างไรก็ตามพัฒนาการของการสื่อสารระหว่างมนุษย์ในระบบทุนนิยมได้กลายเป็นเชิงพาณิชย์ เกิดเป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี การเกิดขึ้นของสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งคนจำนวนมากสามารถสื่อสารกับคนจำนวนมากในหลายรูปแบบ รวมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว สร้างทั้งความหวังและความกังวล ความเจริญรุ่งเรืองและการไร้เสถียรภาพ เป็นสัญญาณว่าการสื่อสารของมนุษย์กำลังขับเคลื่อนสู่ยุคใหม่ที่มีความหลากหลายขึ้น

2. สถานการณ์และแนวโน้มการสื่อสารของโลก

มีที่น่าสนใจอยู่ 6 ประเด็นด้วยกันได้แก่

2.1 ปริมาณและความไม่เท่าเทียมกันทางข่าวสาร มีการศึกษา (พ.ศ.2542) ที่พบว่า ข่าวสารที่ผลิตขึ้นในปีหนึ่งๆ มีปริมาณมากเฉลี่ยราว 250 เมกะไบต์ต่อคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่เวลาที่ใช้ในการรับสารไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แสดงให้เห็นว่าเวลาที่ใช้ในการรับสารใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ผู้รับสารจะหันไปเลือกรับสารตามเนื้อหาและสื่อที่ตนต้องการ แสดงถึงความจำกัดอย่างหนึ่งของยุคข่าวสาร ในอีกด้านหนึ่งพบว่าข่าวสารส่วนใหญ่ถูกบันทึกลงบนสื่อแม่เหล็ก โดยส่วนที่บันทึกลงบนกระดาษมีปริมาณน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 0.003 ของทั้งหมด แต่พบว่าการแพร่กระจายข่าวทางกระดาษมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะมองข้ามสื่อสิ่งพิมพ์ไปเสีย

ความไม่เท่าเทียมกันทางข่าวสารแสดงออกที่ศูนย์กลางได้แก่เมืองใหญ่และประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นผู้สร้างข่าวสารที่สำคัญ การสื่อสารหลักอยู่ระหว่างเมืองใหญ่และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน ข่าวสารมักไหลจากศูนย์กลางไปสู่ชายขอบ ได้แก่เมืองเล็ก ชนบท และประเทศกำลังพัฒนามากกว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางข่าวสารนี้ได้ให้ความสำคัญแก่ช่องว่างทางดิจิตัล (Digital Gap) มากขึ้น เนื่องจากข่าวสารอยู่ในระบบดิจิตัลมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การแก้ช่องว่างทางดิจิตัล เบื้องต้นต้องมีคู่สายโทรศัพท์ที่พอเพียง ต่อจากนั้นต้องสร้างแม่ข่ายอินเทอร์เน็ต พัฒนาเครื่องประกันความมั่นคง (Secure Server) และเว็บไซต์ ภาษาก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับประเทศที่รู้ภาษาอังกฤษน้อย

การแก้ไขช่องว่างทางข่าวสารสำหรับประเทศกำลังพัฒนา อาจไม่จำเป็นต้องวิ่งตามโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางข่าวสารและการสื่อสารให้เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว หากอยู่ที่เข้าถึงสาระของการสื่อสารอันได้แก่คุณภาพข่าวสารมากกว่าปริมาณ และผลประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่กำไรของคนส่วนน้อย

2.2 การสื่อสารกับรัฐ รัฐทั้งหลายในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐแบบเผด็จการ หรือที่เป็นเสรีประชาธิปไตยก็ล้วนควบคุมแทรกแซงการสื่อสารในระดับใดระดับหนึ่งทั้งนั้น เพื่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งกระทำได้ทั้งในรูปแบบการกีดกันและการใช้อำนาจความรุนแรง และการสร้างความยินยอมโดยผ่านกลไก และสถาบันต่างๆ เช่นการโฆษณาชวนเชื่อและสถาบันด้านวัฒนธรรม รัฐในประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีควบคุมแทรกแซงโดยสร้างพันธมิตรรัฐบาล-บรรษัทข้ามชาติ ขณะที่รัฐในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการกีดกันและใช้อำนาจโดยตรงซึ่งทั้งสองวิธีก็ให้ผลไม่ต่างกันนัก นั่นคือล้วนจำกัดสิทธิในการเผยแพร่และรับรู้ข่าวสารของสาธารณะชนในระดับที่แน่นอน ซึ่งทำให้คำว่า “เสรีภาพของการสื่อสาร” ที่มักได้รับการยกย่องจากประเทศพัฒนาแล้ว มีความหมายพร่ามัว เพราะว่าเสรีภาพดังกล่าวเป็นเพียงเสรีภาพในการประกอบธุรกิจการสื่อสาร หาใช่เสรีภาพของการสื่อสารที่แท้จริงไม่

โดยทั่วไปรัฐมีช่องทางที่จะสื่อสารกับประชาชนของตนได้หลายทางได้แก่ 1) ทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ซึ่งกำหนดค่านิยม ทัศนคติ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติ 2) สถาบันการศึกษา 3) สำนักข่าวของรัฐ 4) การโฆษณาชวนเชื่อ เป็นเรื่องที่น่าศึกษามากเรื่องหนึ่ง ขณะที่ในปัจจุบันการโฆษณาสินค้าได้กลายเป็นวิถีดำเนินชีวิตของคนสมัยใหม่ยุคสังคมข่าวสารไปแล้ว

2.3 การสื่อสารกับอำนาจบรรษัทข้ามชาติ การเติบใหญ่ การควบรวมและซื้อกิจการของบริษัทด้านการสื่อสารในประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันมีบรรษัทสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ 7 แห่งที่มีเครือข่ายครอบงำการผลิตและการกระจายข่าวสารให้แก่ประชากรส่วนใหญ่ของโลก โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรม ชนชั้นกลาง และผู้มีกำลังซื้อสูง บริษัททั้ง 7 ได้แก่ เอแอลโอ-ไทม์ วอร์เนอร์, บริษัทเวียคอม, บริษัทวอลท์ ดิสนีย์, บริษัทวิวองดี-ยูนิเวอร์แซล, บริษัทเบอร์เทลสมานน์, บริษัทนิวคอร์ป, และโซนี

จากการศึกษาของ “ศูนย์กลางเพื่อความซื่อสัตย์สาธารณะ” พบว่าในสหรัฐบรรษัทสื่อมวลชนเหล่านี้ได้เคลื่อนไหวหาการสนับสนุนจากนักการเมือง และคณะกรรมาธิการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมหลายทางด้วยกัน เช่น การล็อบบี้ผู้แทนในรัฐสภาและฝ่ายบริหาร การบริจาคเงินช่วยเหลือการเลือกตั้ง การออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นต้น ส่วนเรื่องที่บรรษัทเหล่านี้พากันล็อบบี้ เช่น การเปิดเสรีภาพในการเผยแพร่เรื่องที่มีความรุนแรง ลิขสิทธิ์และสิทธิทางปัญญา การถือครองสื่อ การยกเลิกภาษีมรดก ฯลฯ

ผลกระทบจากการผูกขาดสื่อที่สำคัญได้แก่ 1) การเสริมพลังทำให้บริษัทหนึ่งมีอำนาจมากเกินไปในตลาดสื่อมวลชน 2) การแปรการสื่อสารมวลชนให้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มีมูลค่ามหาศาล วัฒนธรรมถูกผลิตขึ้นเหมือนสินค้าอุตสาหกรรมอื่น เกิดเป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรม อิทธิพลของเจ้าของธุรกิจมีสูง และเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือมีเงินทุนน้อยเข้ามาในวงการนี้ 3) ความรุนแรงและความหยาบของเนื้อหา 4) การซ้ำซากของเนื้อหา มีลักษณะทางเชื้อชาติและทางเพศ 5) การลดทอนและกลบเกลื่อนข่าว ทำให้ข่าวที่ควรจะเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณะไม่ได้รับการเสนอเท่าที่ควรหรือนำเสนอในมุมมองที่เป็นด้านลบ 6) ความเชื่อถือในหนังสือพิมพ์ลดลง

2.4 สื่อกระจายเสียงเพื่อสาธารณะ เมื่อเริ่มการกระจายเสียง รัฐทั้งหลายมักถือเอาคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะมาเป็นของตน การกระจายเสียงจึงแบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่ ขั้วหนึ่งเรียกว่าระบบรัฐ นั่นคือรัฐเป็นเจ้าของสื่อ และควบคุมการกระจายเสียงเพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐ เหล่านี้เกิดขึ้นทั่วไปในยุโรปและสหภาพโซเวียต อีกขั้วหนึ่งเป็นระบบตลาดเสรี ที่รัฐเปิดให้บริษัทเอกชนมาดำเนินการกระจายเสียงอย่างเสรี เช่นในสหรัฐ มีความพยายามที่จะสร้างสื่อกระจายเสียงสาธารณะที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจควบคุมจากทั้ง 2 ขั้วนี้ ส่วนในประเทศอังกฤษ ได้จัดตั้งบริษัทบีบีซีขึ้น เผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิงโดยไม่มีโฆษณา และโดยรักษาความเป็นกลางและคุณภาพระดับสูงของรายการไว้ จนเป็นแบบฉบับให้แก่สื่อเพื่อสาธารณะในประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บีบีซีต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสื่อกระจายเสียงที่มีโฆษณาหนักหน่วง จนไม่สามารถผูกขาดการโทรทัศน์ซึ่งเป็นหัวใจของสื่อกระจายเสียงในปัจจุบันได้

ประสบการณ์สื่อกระจายเสียงสาธารณะในสหรัฐซึ่งตั้งขึ้นมาเมื่อ ค.ศ.1969 เพื่อคานอิทธิพลของตลาดเสรีที่ได้สร้าง “ที่รกร้างอันกว้างไพศาล” ในรายการโทรทัศน์ ก็ดูจะไม่ประสบผลตามที่คาดหมายนัก ในระยะหลังสื่อกระจายเสียงสาธารณะได้ร่วมมือกับบริษัทธุรกิจเอกชนในการจัดทำรายการมากขึ้น

2.5 สื่อทางเลือกและขบวนการประชาสังคม มีผู้เสนอว่าสื่อทางเลือกควรมีลักษณะเด่น 3 ประการได้แก่ 1) ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ไม่ขายผู้รับสารให้แก่บริษัทโฆษณา 2) มีโครงสร้างที่เกลื่อนลบความสัมพันธ์แบบลำดับชั้นทางสังคมที่เป็นอยู่ 3) เป็นอิสระจากสถาบันอื่นโดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ

ในด้านขบวนการทางสังคมนี้ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก บางทีเรียกว่าขบวนการสังคมใหม่ (New Social Movement) เพื่อให้ต่างกับขบวนการสังคมเดิมซึ่งมีลักษณะผูกติดหรือชูอุดมการเดียว ที่สำคัญได้แก่อุดมการสังคมนิยม มโนภาพสำคัญของขบวนการสังคมใหม่ ก็คือการเคลื่อนไหวทางสังคมได้หยั่งรากลงสู่ประชาชนรากหญ้า โดยไม่จำกัดเรื่องชนชั้น

2.6 แนวโน้มและประเด็นปัญหาบางประการเกี่ยวกับการสื่อสาร ได้แก่ 1) จริยธรรม คาดว่าจะเป็นประเด็นถกแถลงกันมากขึ้น เช่นเดียวกับการถกแถลงจริยธรรมในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) ชีวิตดิจิตัล ว่าจะเกิดวัฒนธรรมโลก หรือการแตกย่อยทางวัฒนธรรม จะช่วยยกระดับภูมิปัญญาหรือทำให้จิตใจต่ำลง 2) รัฐบาลดิจิตัล 3) สิ่งของเครื่องใช้ที่คิดเองได้ 4) สงครามไซเบอร์สเปซ 6) การกระจายเสียงแบบดิจิตัล

3. สถานการณ์และแนวโน้มการสื่อสารในประเทศไทย

มีทั้งด้านที่ก้าวหน้าพัฒนาและการท้าทายใหม่ คาดว่าการสื่อสารในประเทศไทยน่าจะยังคงความหลากหลายและมีลักษณะพหุลักษณ์ต่อไป และหากการผูกติดกับระบบทุนนิยมโลกยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างที่เป็นอยู่ อาจมีผู้แสดงเด่นเรียงตามลำดับดังนี้ บรรษัทสื่อสารข้ามชาติ บริษัทสื่อสารในประเทศ รัฐบาล และการสื่อสารภาคประชาชน มีหัวข้อใหญ่ที่จะกล่าวถึง 3 หัวข้อได้แก่ภูมิหลัง สถานการณ์และแนวโน้มการสื่อสารในประเทศไทย และข้อเสนอแนะ

3.1 ภูมิหลังการสื่อสารในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่คณะมิชชันนารีได้เริ่มการพิมพ์ในประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สาม จนกระทั่งถึงการมีรัฐธรรมนูญใหม่และวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกันใน พ.ศ.2540 เป็นเวลานานกว่า 150 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว สังคมไทยดูมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่โครงสร้างและเนื้อหาบางด้านของสื่อสารมวลชนในประเทศไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก กล่าวคือภาระวิ่งตามตะวันตกก็ยังไม่สำเร็จ อิทธิพลทุนนิยมตะวันตกก็ยังครอบงำ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษยังคงสำคัญในการสร้างความเชื่อถือในหมู่ชาวต่างประเทศ การต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่ ลัทธิคอมมิวนิสต์ยังคงถูกต่อต้าน (เพิ่งเลิกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2544) นี้เอง เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ก็มีทั้งที่เข้าข้างรัฐบาลและที่คัดค้าน การแสดงความทุกข์ยากและเปิดเผยกรณีทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ เป็นเรื่องบันเทิง ส่วนที่ลดลงไปได้แก่ภาคบทประพันธ์ เรื่องสั้น และนวนิยาย

ภูมิหลังนี้แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่

1) การสื่อสารมวลชนช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นห้วงเวลาของการปรับเปลี่ยนประเทศครั้งใหญ่ให้ทันสมัยเหมือนนานาอารยะประเทศ การเปลี่ยนแปลงสำคัญอันได้แก่ การเลิกไพร่และทาส การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพเป็นแบบเงินตรา การสร้างระบบทหารประจำการและระบบราชการขนาดใหญ่ การสร้างโครงการพื้นฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการขนส่งและการสื่อสาร ทำให้การหนังสือพิมพ์ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากในหมู่คณะมิชชันนารี สู่วงเจ้านาย และชนชั้นกลางตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และระบบราชการ ในห้วงเวลานี้ยังได้เกิดสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้แก่ การกดดันจากมหาอำนาจตะวันตก การปฏิวัติเก๊กเหม็งในจีน กบฎ ร.ศ.130 กระแสประชาธิปไตยที่ขึ้นสูงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 การขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล การมีอำนาจเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ภาวะหนี้สินของประเทศและผลกระทบจากปัญหาการเงินการคลัง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลก

การสื่อสารมวลชนในช่วงนี้เห็นได้ว่า เริ่มจากการแผ่ลัทธิอาณานิคมตะวันตกเข้ามาในภูมิภาคนี้ รัฐบาลได้พยายามควบคุมดูแลตั้งแต่ยุคต้นๆ แต่กระแสประชาชาติประชาธิปไตยในประเทศอาณานิคมและในประเทศไทย ค่อนข้างสูงมาก รัฐบาลไทยสร้างหนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอำนาจรัฐขึ้นมา หนังสือพิมพ์ที่ออกมาจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 นั้นส่วนใหญ่ออกๆหยุดๆ แต่ก็มีหลายฉบับที่ยืนยงและมีอิทธิพลสูง รัฐบาลใช้วิธีสนับสนุนหนังสือพิมพ์เพื่อเป็นปากเสียงและสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวต่างประเทศ ซึ่งก็ได้กระทำต่อเนื่องกันมานาน

2) การสื่อสารสมัยคณะราษฎร (พ.ศ.2475-2491) เมื่อประชาธิปไตยเปิดขึ้น การปิดหนังสือพิมพ์ก็ดูเพิ่มขึ้น ทั้งจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยม และรัฐบาลของคณะราษฎรเอง การแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจเดิมกับคณะราษฎร และภายในคณะราษฎรเอง ตลอดจนการแย่งอำนาจในหมู่ประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งพยายามเข้ามามีอำนาจแทนอังกฤษและฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้ ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เสรีภาพของหนังสือพิมพ์บางช่วงมีลักษณะเปิด เช่นระหว่าง พ.ศ.2476-2481 และอีกช่วงหนึ่งมีลักษณะปิดตั้งแต่ พ.ศ.2481-2487 และมีช่วงเปิดสั้นๆ ในปี พ.ศ.2488-91 ในช่วงนี้ได้เห็นการใช้สื่อมวลชน ทั้งสื่อกระจายเสียงและสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาล และปลุกใจประชาชนให้เกิดการรักชาติในขอบเขตที่กว้างขวาง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนั้น การสื่อสารยังแพร่หลายตามการขยายตัวของการศึกษา

3) การสื่อสารสมัยสงครามเย็น พ.ศ.2492-2523 กระแสการเรียกร้องเอกราชและกระแสสังคมนิยมได้แรงขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะหลังจากจีนได้รับการปลดปล่อยใน พ.ศ.2492 รัฐบาลไทยเข้าร่วมกับสหรัฐในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และปิดล้อมประเทศจีน และเข้าพัวพันในสงครามตั้งแต่สงครามเกาหลีจนถึงสงครามอินโดจีน ในช่วงเวลานี้การสื่อสารมวลชนของไทยก็มีลักษณะปิดๆเปิดๆอีกเช่นเดียวกัน การเปิดนั้นมักอยู่บริเวณช่วงรอยต่อ เช่นการเปิดในปี 2492 เกิดขึ้นก่อนการปิดเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2494 การเปิดช่วง 2498-2500 เกิดขึ้นก่อนเปลี่ยนจากยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาสู่ยุค “สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส” ที่มีการปิดกั้นเป็นเวลานาน การเปิดระหว่าง พ.ศ.2516-2519 เป็นช่วงต่อระหว่างกึ่งเปิดกึ่งปิดในสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ

ในด้านสื่อมวลชนมีความพยายามจากรัฐบาลที่จะทำให้จำนวนหนังสือพิมพ์มีน้อยลง การหนังสือพิมพ์ได้เริ่มเป็นธุรกิจอย่างแท้จริง และเติบโตโดยลำดับ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นทั้งผลและเหตุกระตุ้นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองอย่างใหญ่หลวง ฐานะของหนังสือพิมพ์และชนชั้นกลางในเมืองค่อนข้างตั้งมั่น การผูกขาดสื่อกระจายเสียงและการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐอ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ได้เห็นการใช้สื่อกระจายเสียงเพื่อปลุกระดมให้เกลียดชังขบวนการนักศึกษา-ประชาชนจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 โทรทัศน์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นสื่อมวลชนใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ดูดกลืนวรรณกรรมอื่นให้กลายเป็นเพียงวรรณกรรมโทรทัศน์

ในช่วงเวลาราว 30 ปีมานี้ ได้เกิด “ค่าย” หนังสือพิมพ์ที่เด่นหลายค่ายได้แก่ พิมพ์ไทย สยามรัฐ ไทยรัฐ เดอะเนชั่น ประชาชาติ-มติชน และเดลินิวส์ สามค่ายแรกเป็นแหล่งผลิตนักเขียนและนักหนังสือที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก บางคนได้กลายเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมา และได้เกิดวารสารสำหรับนักศึกษาปัญญาชน ได้แก่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน หนังสือและนิตยสารสำหรับเด็กได้แพร่หลาย รวมทั้งเรื่องอ่านสำหรับคนระดับล่าง นิตยสารสำหรับสตรีทันสมัย มีรูปเล่มการพิมพ์สวยก็ได้เกิดขึ้น เป็นการขายผู้รับสารมากกว่าข่าวสาร

4) การสื่อสารยุคเสรีนิยมใหม่ (พ.ศ.2523-2540) ในช่วงนี้เห็นอิทธิพลที่ชัดเจนขึ้นของธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นแบบเสรีนิยมใหม่ เปิดรับกระบวนการโลกาภิวัตน์ องค์กรธุรกิจเอกชนและนักธุรกิจ ได้มีบทบาทมากขึ้นในการบริหารประเทศ และเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในสัดส่วนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งได้มีรากฐานจากทั้งการเคลื่อนไหวของกระบวนการนักศึกษา-ประชาชนเดิม ขบวนการสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนและการเมืองภาคประชาชน การเคลื่อนไหวพัฒนาชนบทและผู้ด้อยโอกาส เช่นชาวไทยภูเขา คนจนในเมือง การเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมและแพทย์ทางเลือก การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ได้ก่อตัวเป็นขบวนการประชาสังคมที่ไม่อาจมองข้ามได้

ในห้วงเวลานี้ สื่อมวลชนได้ก่อรูปมั่นคงจนเป็นสถาบันหนึ่งต่างหาก แม้แต่รัฐบาลก็ยังต้องเกรงใจ กรณีพฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ซึ่งมีการใช้สื่อกระจายเสียงเพื่อปิดกั้นการแสดงออกและเสรีภาพของการรับฟังข่าวสารอีกครั้งหนึ่ง นำมาสู่ความคิดเรื่องสื่อเสรีหรือเสรีภาพในการประกอบธุรกิจทางสื่อกระจายเสียงและสื่อสาธารณะขึ้น

3.2 สถานการณ์และแนวโน้มการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย (พ.ศ.2540-2544)

มีสถานการณ์ทั่วไปที่สำคัญได้แก่ วิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศที่ลามไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นทั่วโลก และสะท้อนถึงวิกฤติของระบบทุนนิยมทั้งระบบ อิทธิพลของสหรัฐอ่อนลง เกิดระบบโลกที่มีศูนย์อำนาจหลายขั้ว มีการควบรวมและซื้อกิจการทางธุรกิจโดยเฉพาะทางด้านการสื่อสารเหมือนไฟลามทุ่ง เกิดการผูกขาดด้านการสื่อสาร ตลาดวัฒนธรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร การสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และการให้นำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะมาใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะมากขึ้น

สภาพปัญหาและแนวโน้มของสื่อสารมวลชนไทยได้แก่ 1) ยังมีช่องว่างและความไม่เสมอภาคทางข่าวสารดำรงอยู่ค่อนข้างสูง 2) หนังสือพิมพ์ไทยกำลังเผชิญกับการท้าทายใหม่ในการรักษาภาพ “ฐานันดรที่สี่” ในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่เปลี่ยนไป 3) การแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศ 4) “ค่าย” หนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มเดอะเนชั่น กลุ่มมติชน กลุ่มบางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นอกจากนี้ยังควรจับตาหนังสือกลุ่มกีฬาได้แก่กลุ่มสยาม สปอร์ต ซินดิเคท และกลุ่มแกรมมี่ที่ควบคุมด้านธุรกิจเพลง 5) สื่อกระจายเสียงที่เป็นระบบรัฐแบบทวิลักษณ์ คือรัฐเป็นเจ้าของสื่อแต่ให้สัมปทานหรือเช่าเวลาออกอากาศแก่ธุรกิจเอกชน ซึ่งกำลังแปรรูปให้เป็นแบบธุรกิจเอกชนมากขึ้น ขณะที่จะให้เวลาส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในกลุ่มผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องค่อนข้างสูง 6) มีการเคลื่อนไหวในวงการหนังสือพิมพ์เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ความมั่นคงทางอาชีพ ยกระดับวิชาชีพ และควบคุมกันเอง โดยการจัดตั้งองค์การสำคัญ 2 แห่งได้แก่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 7) การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาสังคมและการเมืองภาคประชาชนเพื่อเสื่อสาธารณะและสื่อทางเลือก 8) สื่ออินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังคงกระจุกตัวในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

3.3 บทสรุปและข้อเสนอแนะ

1) ควรมีการเคลื่อนไหวเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ความรู้ (Knowledge Strategy) ในระดับชาติ 2) ควรส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารและเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารอย่างเต็มที่ 3) ควรสนับสนุนสถาบันหนังสือพิมพ์ให้เข้มแข็ง 4) ส่งเสริมให้ประชาชนรากหญ้าได้เข้าถึงข่าวสารที่มีคุณภาพ 5) สนับสนุนภาคประชาชนและธุรกิจเอกชนให้เข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม 6) สนับสนุนให้วิทยุของสถาบันการศึกษาเป็นสื่อกระจายเสียงสาธารณะ รวมทั้งให้ความสำคัญมากขึ้นแก่หอกระจายข่าวที่ตั้งในหมู่บ้าน

การสื่อสารมีการพัฒนาเร็วมากในรอบร้อยกว่าปีมานี้ แต่สิ่งที่จะเป็นภูมิทัศน์ของการสื่อสารแท้จริงนั้นน่าจะเป็นสื่อเพื่อสาธารณะและสื่อเพื่อชุมชน แต่การสร้างสื่อทั้ง 2 แบบนั้นไม่ใช่งานง่าย เนื่องจากการสื่อสารทั่วโลกได้ถูกผูกขาดครอบงำโดยพันธมิตรรัฐ-บรรษัทสื่อสาร การสร้างพันธมิตรใหม่ระหว่างรัฐ-ธุรกิจเอกชน-ประชาสังคม-ชุมชนเป็นสิ่งจำเป็น และเวลาก็เหลืออยู่ไม่มาก

รายงานส่วนที่ 1

การวิเคราะห์ สังเคราะห์

สถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทย

เรื่อง

การสื่อสาร: ความพยายามแสวงหาสื่อเพื่อสาธารณะ

Mass Communication: Seeking for A Genuine Public Media

1. บทกล่าวนำ: ชีวิตและอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

มนุษย์ได้มีการคิดค้นอักษรภาพขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราว 5 พันปีที่ผ่านมา ในแถบที่ราบลุ่มเมโสโปเตเมียที่อยู่ระหว่างแม่น้ำยูเฟรตีสและไทกรีส ทำให้สะดวกในการสร้างอารยธรรม ทั้งนี้เนื่องจาก ผู้อาศัยอยู่ในบริเวณนี้รู้จักวิธีชลประทาน ดึงน้ำจากแม่น้ำเข้าสู่ไร่นา ทำให้ได้ผลผลิตล้นเหลือ จนกระทั่งขยายตัวเติบโตสร้างเป็นเมืองขึ้น เมืองรุ่นแรกได้แก่เมืองอูรุก (Uruk) มีประชากรระหว่าง 1-2 หมื่นคน เมืองนี้มีลักษณะร่วมของเมืองสมัยโบราณทั่วไปนั่นคือ มีกำแพง สถานที่สาธารณะ เช่น วัด และมีผลผลิตทางการเกษตรล้นเหลือ มีงานหัตถกรรมทางโลหะ การคิดอักษรภาพในครั้งนั้นเป็นการก้าวหน้าใหญ่ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างยุคประวัติศาสตร์ขึ้น มีการขุดพบแผ่นดินเผาที่จารตัวอักษรนับจำนวนแสนชิ้นขนาดตั้งแต่ฝ่ามือไปจนถึงหน้าหนังสือและคาดว่าจะค้นพบเพิ่มขึ้นอีก เกิดผู้ทำงานทางด้านข่าวสารที่ชำนาญในการจารตัวอักษรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จากนั้นการสื่อสารก็ได้ก้าวหน้าในอัตราเร่งที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในระยะ 4-500 ปีมานี้ ที่มีการคิดเครื่องพิมพ์ การสื่อสารโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจนกระทั่งก้าวสู่ระบบดิจิตัล

แต่ทว่าหากย้อนไปศึกษาดูจะพบว่าการสื่อสารระหว่างมนุษย์มีวิวัฒนาการที่เก่าแก่กว่านั้น มนุษย์รู้จักใช้ภาษาพูดและท่าทางเพื่อการสื่อสารมานานก่อนหน้านั้นนับล้านปี

จากการศึกษาชีวิตสัตว์พบว่าสัตว์ทั้งหลายมีวิธีสื่อสารที่ต่างๆ กันไป การสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในขอบเขตของมนุษย์เท่านั้น การศึกษาเกี่ยวกับยีน (Gene) ซึ่งเป็นรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต พบว่ามันประกอบด้วยข่าวสารที่ใส่รหัสไว้อย่างดี สามารถถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้โดยแทบไม่ผิดเพี้ยน และทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งต่างกับอีกชนิดหนึ่ง การศึกษาเกี่ยวกับเซลล์ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของชีวิตพบว่ามีการสื่อสารภายในเซลล์อย่างซับซ้อน เช่นเพื่อการซ่อมแซมสิ่งที่เสื่อมสึกหรอไป ถ้าหากชีวิตมีหลายเซลล์ก็พบว่ามีการสื่อสารกันระหว่างเซลล์ด้วย เช่นเพื่อการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด หรือการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทกับเซลล์กล้ามเนื้อ สิ่งมีชีวิตที่รวมกันอยู่เป็นกลุ่มหรือเป็นฝูงอย่างเช่น ช้าง ลิง และมนุษย์ มีการสื่อสารระหว่างสมาชิกในกลุ่มอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา สิ่งมีชีวิตที่รวมกันเป็นระบบนิเวศก็มีการสื่อสารระหว่างชีวิตเหล่านี้ทั้งในรูปที่ช่วยเหลือ แข่งขัน หรือเป็นกลางระหว่างกัน รวมความแล้วข่าวสารและการสื่อสารเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของกำเนิดและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งพัฒนาการทางสังคมมนุษย์

ในกระบวนแห่งวิวัฒนาการของชีวิตและสังคมมนุษย์ ได้เห็นแนวโน้มที่สำคัญ นั่นคือการพัฒนาจากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ซับซ้อนกว่า จากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวสู่หลายเซลล์ กระทั่งมีนับล้านล้านเซลล์ เช่นในคน สังคมมนุษย์ก็เช่นเดียวกันได้พัฒนาจากสังคมที่ไม่ซับซ้อนสู่สังคมที่ซับซ้อนขึ้น แต่เมื่อมองในรายละเอียดพบว่า การพัฒนาสู่สิ่งที่ซับซ้อนขึ้นนั้นมักเกิดขึ้นเป็นบางส่วน กระทั่งเป็นส่วนน้อย เช่น สิ่งมีชีวิตหลักในโลกยังคงเป็นแบคทีเรีย ขณะที่มนุษย์ยังเป็นส่วนน้อย หรือสังคมที่พัฒนาซับซ้อนก็ครอบคลุมจำนวนประชากรราวร้อยละ 20 เท่านั้น ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70-80 อยู่ในสังคมที่ซับซ้อนน้อยกว่า เกิดการแบ่งขั้วเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มเหนือและกลุ่มใต้ เป็นต้น

วิวัฒนาการแบบนี้เป็นการสร้างลำดับชั้นในระบบขึ้น เช่นในระบบชีวิต มีผู้ผลิตขั้นต้น ได้แก่ พืช ผู้บริโภคขั้นกลาง ได้แก่ แมลงและสัตว์กินพืช ผู้บริโภคขั้นสูงได้แก่สัตว์กินเนื้อ และในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์จัดอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคสูงสุด ผู้บริโภคชั้นสูงนั้นกล่าวโดยทั่วไปจำต้องอาศัยพลังงานจากสิ่งมีชีวิตในระดับชั้นที่ต่ำกว่า ดังนั้นจึงมักมีจำนวนน้อย สังคมมนุษย์ที่เริ่มซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็มักแบ่งคนในสังคมออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับล่าง ระดับกลาง และชนชั้นสูง

อนึ่ง สังคมมนุษย์ที่สามารถเพิ่มความซับซ้อนและจำนวนประชากรขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นผู้บริโภคระดับสูง เนื่องจากสามารถใช้พลังงานจากสิ่งมีชีวิตในระดับชั้นที่ต่ำกว่าได้มาก ประจักษ์พยานในเรื่องนี้ก็คือระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลายอย่างย่อยยับในช่วง 2-300 ปีที่ผ่านมา อันเป็นห้วงเวลาที่สังคมมนุษย์ได้ทวีความซับซ้อนและเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ มนุษย์ยังอาศัยซากพลังงานจากสิ่งมีชีวิตระดับต่ำในอดีต ในรูปของเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ประจักษ์พยานในเรื่องนี้ ได้แก่ ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้แก่พลังงานราคาแพง

สังคมที่ซับซ้อนมีลักษณะเด่นอยู่หลายประการ ได้แก่ 1) การแบ่งงานที่ซับซ้อนขึ้น เกิดอาชีพใหม่และหลากหล